ประชาชนจำนวนมาก ร่วมงานบุญใหญ่ ประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรยวัดไลย์ วันออกพรรษา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แห่งลุ่มน้ำบางขาม จังหวัดลพบุรี
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ วัดไลย์ ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี นายสรณต ณ ศรีโต นายอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นประธานในประเพณีพิธีเปิดงานสืบสานประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ โดยมีนางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี เขต 3 นางกฤษณา สิทธิราช วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี นายธีระศักดิ์ รัตนจันทร์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าโขลง ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนอำเภอท่าวุ้ง และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมพิธีฯ
สำหรับประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย ได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี พ.ศ. 2566 ด้านแนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรม ประเพณี” โดยงานประเพณีแห่พระศรีอริยเมตไตรย เป็นประเพณีที่ชาวบ้านตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ถือปฏิบัติกันมาช้านาน โดยประเพณีชักพระศรีอาริย์ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และ วันแรม 4 ค่ำ เดือน 11 โดยจะอัญเชิญพระศรีอาริย์ประดิษฐานบนตะเข้และใช้เชือกชักแห่ไปในเส้นทางวัดท้องคุ้งและวัดเทพอำไพ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ปิดทองและสรงน้ำ เกิดเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ศรัทธา ตลอด 2 ข้างทางจะมีโรงทาน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชุมชนวัดไลย์ ที่มีความเชื่อศรัทธาในเรื่องการให้ทาน บริจาคทาน โดยมีประชาชนเข้าร่วมจัดโรงทานเป็นจำนวนมาก ประเพณีแห่พระศรีอารย์ของวัดไลย์
นอกจากจะแสดงถึงการทำบุญให้ทานแล้ว ยังแสดงถึงความสามัคคีและการรวมพลังของคนในชุมชน ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระศรีอารย์ โบราณวัตถุสำคัญที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของลูกหลานพระศรีอาริย์
สำหรับ พระศรีอริยเมตไตรย ถือเป็นปูชนียวัตถุสำคัญของวัดไลย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางขาม เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น มีพระมหากษัตริย์ ถึง 3 พระองค์ ได้เสด็จประพาสต้น มายังวัดแห่งนี้ ส่วนพระศรีอริยเมตไตรย เป็นพระพุทธรูปหล่อแบบพุทธสาวก คือ มีเศียรโล้น ไม่มีเปลวรัศมี ลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญ นั่งขัดสมาธิ คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำจากสำริด ลงรักปิดทอง มีลักษณะสวยงาม ตามตำนานว่า หล่อขึ้นแทนองค์พระศรีอริยเมตไตรย องค์เดิม ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่อยู่ในวิหารที่ถูกไฟไหม้ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซ่อมสร้างขึ้นใหม่ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อการซ่อมแซมเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จึงได้อันเชิญกลับสู่เมืองลพบุรี และร่วมกันรักษาเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนามาจนปัจจุบัน
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี