จังหวัดลพบุรี วางแนวทางขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาค ประจำปี 2568 มุ่งพัฒนาสู่แรงงานมีฝีมือ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ว่าที่ร้อยตรีทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาค ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 โดยมี นายประเสริฐ เด่นขจรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลพบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ปีงบประมาณ 2567 และได้ร่วมกันพิจารณา ขั้นตอนการดำเนินงานตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ การมอบหมายภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำหนดวันที่ต้องดำเนินการ จำนวนหลักสูตรที่จะเปิดฝึกอบรม รวมถึงการกำหนดวันศึกษาดูงานและวันรับสมัคร ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลพบุรี นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประสานขอความร่วมมือประธานหอการค้าจังหวัดลพบุรี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีจัดหาสถานประกอบกิจการที่รับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเข้าฝึกในกิจการ และสามารถรับเข้าทำงานหลังจากจบฝึกในกิจการเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ ต่อไป
รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่าโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาสเรียนต่อได้เพิ่มทักษะด้านอาชีพก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมอาชีพสาขาต่างๆเป็นเวลา 4-6 เดือน เรียนฟรีมีที่พักให้มีเบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกอบรม ฝึกจบมีตลาดรองรับเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” นำไปสู่การมีอาชีพ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ปรับเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนของค่าอาหารและในช่วงระหว่างเรียนยังได้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือประเภทต่าง ๆ เช่น เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง เงินสงเคราะห์กองทุนคุ้มครองเด็ก เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ หรือเงินสงเคราะห์อื่น แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย คนละ 6,000 – 8,000 บาท ที่สำคัญ คือ หลังฝึกอบรมจบแล้วได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองในสายอาชีพซึ่งเป็นการพัฒนาจากแรงงานไร้ฝีมือ กลายเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ส่วนเด็กคนไหนอยากจะมีกิจการเป็นของตนเองจะมีการประสานภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการให้มามีส่วนร่วมในการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือ อันจะเห็นได้ว่าเด็กที่เข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ จบไปแล้วจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงต่อไป
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี