การระบาดของ แมลงดำหนามข้าว ที่จะคอยกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวบริเวณใบข้าวทั้งที่เป็นระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย ทำให้ใบข้าวเสียหาย เป็นรอยไหม้ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในการปลูกข้าวเกษตรกรมักต้องประสบกับปัญหาการบุกรุกของศัตรูข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่การปลูกข้าวภาคกลางในช่วงนี้ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากกการระบาดของ แมลงดำหนามข้าว ที่จะคอยกัดกินเนื้อเยื่อส่วนสีเขียวบริเวณใบข้าวทั้งที่เป็นระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย ทำให้ใบข้าวเสียหาย เป็นรอยไหม้ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง โดยแมลงดำหนามข้าวถือเป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีหนามแหลมปกคลุม ตัวเต็มวัยมีสีดำ ขนาดลำตัวยาว 5 – 6 มิลลิเมตร เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ประมาณ 50 ฟอง ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวแบนสีขาว ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย ประมาณ 1-2 เดือน
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมถึงการป้องกันและกำจัดแมลงดำหนามข้าว ว่า เกษตรกรควรปลูกข้าวถี่ให้มีใบข้าวหนาแน่น สามารถทนต่อการทำลายของแมลงได้ ควรกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงนา เนื่องจากวัชพืชบางชนิดเป็นพืชอาศัยของแมลงดำหนาม อีกทั้งไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้ใบข้าวเขียว ซึ่งแมลงดำหนามชอบ นอกจากนั้นหมั่นตรวจนาข้าวสม่ำเสมอหรือทุกสัปดาห์หากมีแมลงดำหนามมากกว่า 2 ตัวต่อกอ ควรใช้สารป้องกันกำจัดแมลงประเภอ พิโปรนิล หรือ คลอไทอะนิดีน
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเสริมว่า แมลงดำหนามเป็นแมลงที่มีอัตราการตายจากแมลงศัตรูธรรมชาติค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในระยะไข่และหนอน โดยพบอัตราการตายจากการเข้าทำลายของแตนเบียนไข่ ดังนั้นหากมีการอนุรักษ์แตนเบียนเหล่านี้ในนาข้าว จะช่วยทำให้แมลงดำหนามลดน้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาข้าว