พบดอกไม้พันธุ์ใหม่ ใน “สกุลหยาด” 4 ชนิดใหม่ของโลก ‘หยาดวานรพักตร์’ เมืองลพบุรี ดอกไม้ประหลาดเหมือนหน้าลิง
นักวิจัยกรมอุทยานฯพบ “หยาดวานรพักตร์” เมืองลพบุรี ดอกไม้ประหลาดเหมือนหน้าลิง เผยโฉมพืชชนิดใหม่ของโลก “สกุลหยาด” 4 ชนิด เจอที่สระบุรี 2 ชนิด ระยองและลพบุรี 1 ชนิด ขึ้นในพื้นที่จำเพาะระบบนิเวศเขาหินปูน เสี่ยงถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก เป็นพืชหายากในสกุล “หยาด” 4 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ “หยาดวานรพักตร์” จาก จังหวัดลพบุรี เป็นพืชที่มีดอกเหมือนใบหน้าลิง โดยหยาดชนิดใหม่ทั้ง 4 ชนิด มาจาก จังหวัดสระบุรี 2 ชนิด จังหวัดระยอง 1 ชนิด และ จังหวัดลพบุรี 1 ชนิด พบขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัดในระบบนิเวศจำเพาะ คือระบบนิเวศเขาหินปูน เป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์
ทั้งนี้ พืชชนิดใหม่ของโลกทั้ง 4 ชนิด ถูกสำรวจพบตามการดำเนินงานโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย โดยทีมนักวิจัยกรมอุทยานฯ ประกอบด้วย น.ส.นัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร นายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จังหวัดลพบุรี ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในสกุลหยาด (Microchirita) จึงได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 52 (2) หน้า 80-88 ปี 2024 ทั่วโลกพบพืชในสกุลนี้ 51-55 ชนิด
สำหรับประเทศไทยพบทั้งหมดจนถึงปัจจุบันรวม 41 ชนิด นับว่าเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ของสกุลนี้ ประกอบด้วย 1.หยาดวานรพักตร์ พบบริเวณเขาหินปูน ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี คำระบุชนิด “simia” เป็นภาษาละตินที่หมายถึงลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า 2.หยาดอรทัย พบบริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง คำระบุชนิด “orathaiae” ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นางอรทัย เกิดแก้ว ช่างศิลป์ประจำหอพรรณไม้ ซึ่งวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ให้กับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทยมาอย่างยาวนาน 3.หยาดพระโพธิสัตว์ พบบริเวณเขาหินปูน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คำระบุชนิด “radiata” หมายถึงเส้นสีน้ำตาลที่แผ่เป็นรัศมีภายในหลอดกลีบดอก 4.หยาดถ้ำกระบอก พบบริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี คำระบุชนิด “puglisiae” ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Dr.Carmen Puglisi ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษีหลายสกุล ได้ช่วยศึกษาวิจัยสำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี