หนึ่งเดียวในโลก ชาวไทยเบิ้ง จังหวัดลพบุรี สืบสานประเพณี กว่า100 ปี แข่งขันกวนลูกอม เพื่อนำตักบาตรเทโวพระสงฆ์ในวันออกพรรษา
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ วัดโคกสำราญ ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี นายรัชพล เอื้อสลุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบโคกสลุง นำชาวไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเบิ้ง ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แต่งกายชุดไทยเบิ้ง ได้ฟื้นฟูประเพณีกวนลูกอม เพื่อนำมาใช้ในการตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ในวันพรุ่งนี้ (18 ตุลาคม 2567) ซึ่งในปีนี้ชาวบ้านที่มาร่วมแข่งขันกวนลูกอมกันมีด้วยกัน 4 ทีม โดยได้คิดสูตรกวนลูกอมกันมาใหม่ ทั้งสูตรลูกอมมะขาม สูตรลูกอมมะม่วงหาวมะนาวโห่ สูตรลูกอมกะทิ อัญชัน ใบเตย และสูตรลูกอมมะเฟือง มะนาว ซึ่งแต่ละทีมจะแต่งตัวไทยเบิ้งมาแข่งขันกวนลูกอมกันภายในวัดเพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่ของชุมชนที่จัดกันสืบทอดมากว่า 100 ปี แล้ว
สำหรับการกวนลูกอมเป็นการฟื้นฟู สืบสานประเพณีเก่าแก่ของชุมชนขึ้นมาใหม่เพื่อให้เด็กๆ ได้สืบสานประเพณีกวนลูกอมเอาไว้ โดยอุปกรณ์ในการใช้กวนลูกอมก็จะประกอบด้วย กะทิ น้ำตาล แบแซ นมสด ถั่ว และ วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบเตย มะม่วงหาว มะนาวโห่ และอื่นๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่ออกมาอร่อยหวานมันตามแบบฉบับดั้งเดิม ซึ่งประเพณี ตักบาตรเทโวลูกอม ถือเป็นประเพณี หนึ่งเดียวในโลก ที่ชาวไทยเบิ้งของจังหวัดลพบุรี ทำสืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี แล้ว เพื่อให้พระสงฆ์พกติดตัวเวลาเดินธุดงค์หลังจากออกพรรษา แล้วเกิดกระหายน้ำ ไม่มีน้ำดื่ม จะได้อมลูกอมแก้กระหายน้ำได้
โดย วัดโคกสำราญ ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถือเป็นจุดศูนย์กลางของชาวไทยเบิ้งที่อาศัยอยู่ที่นี่ ทั้งเด็กและคนแก่จำนวนมากกว่า 3 พัน ครอบครัว และในวันออกพรรษาก็จะมา รวมตัวกันที่วัดเพื่อทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งจะมีประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ แต่ชุมชนแห่งนี้จะมีการตักบาตรที่ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ของประเทศ หรืออาจเป็นที่เดียวในโลก
เนื่องจากตักบาตรเทโวโรหณะของที่จังหวัดอื่นๆจะเป็นการตักบาตรข้าวต้มมัด หรือ ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แต่สำหรับที่วัดโคกสำราญ ในชุมชนไทยเบิ้งแห่งนี้จะใช้ “ลูกอม” เช่น ลูกอมนมสดที่ชาวบ้านกวนกันเอง หรือลูกอมที่หาซื้อจากท้องตลาด มาตักบาตรเทโวพระสงฆ์ โดยเป็นการทำสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่นยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว
นายรัชพล เอื้อสลุง กล่าวว่า การตักบาตรเทโวของที่นี่ เป็นการสืบทอดประเพณีเก่าของชาวไทยเบิ้ง ซึ่งการตักบาตรลูกอมมีความหมายคือในอดีตกาลหลังออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็จะออกเดินธุดงค์เพื่อปฎิบัติธรรม แต่การเดินทางสมัยก่อนไม่สะดวก พระสงฆ์ที่รับบาตรลูกอมมา ก็จะนำลูกอมติดตัวไปด้วยเวลาเดินธุดงค์ หากพระสงฆ์เกิดหิวน้ำ ก็จะใส่อมลูกอมแทนการดื่นน้ำเพื่อแก้กระหายน้ำ หรือบางครั้งระหว่างออกธุดงค์ พระเกิดอาพาธเมื่อกินยาลูกกลอนแล้วมีอาการขม ก็จะใช้ลูกอม อมแก้ขมได้ จึงถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันตลอดมา และในปีนี้ทางวัดได้จัดให้มีการแข่งขันกวนลูกอมขึ้นมาเป็นปีแรกเพื่อสืบสานงานประเพณีตักบาตรเทโวลูกอมให้คงอยู่ต่อไปกับชาวไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ให้นานที่สุดเพราะถือเป็นกิจกรรมหนึ่งเดียวในโลก
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี