เมื่อพูดถึง “การฆ่าตัวตาย” หลายคนมักนึกถึงโรคซึมเศร้าเป็นอันดับแรก แต่ในความเป็นจริง ปัจจัยที่ผลักดันให้ใครสักคนตัดสินใจจบชีวิตนั้นมีหลากหลายกว่าที่เราคิด จากรายงานสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปี 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 5,172 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน คิดง่าย ๆ คือมีคนหนึ่งคนจบชีวิตลงในทุก ๆ 2 ชั่วโมง และยังมีผู้พยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 31,110 คน หรือเฉลี่ยวันละ 85 คน ตัวเลขเหล่านี้ชวนให้สะเทือนใจ และสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย
ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายไม่ได้มีเพียงโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคทางกายเรื้อรัง (31%) โรคจิตเวช (27%) การใช้แอลกอฮอล์ (21.1%) รวมถึงปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกมากมาย สถิติทั้งหมดนี้บอกเราได้ชัดเจนว่า เบื้องหลังของการตัดสินใจครั้งสุดท้าย มีเรื่องราวมากกว่าที่เห็น และบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่คนรอบตัวไม่ทันได้สังเกตเห็นเลยก็ได้
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย
- ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
นอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว ยังมีภาวะสุขภาพจิตอื่นที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคไบโพลาร์ โรควิตกกังวลรุนแรง PTSD (โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ) หรือโรคจิตเภท ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรับมือกับความทุกข์ได้ยากขึ้น
- ความเครียดจากชีวิตประจำวัน
ปัญหาทางเศรษฐกิจ หนี้สิน ปัญหาครอบครัว การถูกกดดันในที่ทำงาน หรือการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ล้วนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้คนรู้สึกหมดหนทาง และอาจนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตาย
- ภาวะติดสารเสพติดและแอลกอฮอล์
การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และเหตุผลลดลง เพิ่มความหุนหันพลันแล่น และทำให้ตัดสินใจในทางที่ผิดได้ง่ายขึ้น
- โรคทางกายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น มะเร็ง โรคทางระบบประสาท หรืออาการเจ็บปวดเรื้อรัง อาจรู้สึกสิ้นหวังและต้องการยุติความทุกข์ทรมานของตนเอง
- แรงกดดันทางสังคมและวัฒนธรรม
บางครั้ง การถูกสังคมกดดัน เช่น การถูกกลั่นแกล้ง (Bullying) การเผชิญกับอคติทางเพศสภาพ หรือการถูกบังคับให้ต้องดำเนินชีวิตตามค่านิยมที่ตัวเองไม่สามารถรับไหว อาจทำให้คนรู้สึกไร้ทางออก
เราจะช่วยกันป้องกันได้อย่างไร?
- สังเกตสัญญาณเตือน เช่น การแยกตัวจากสังคม พูดถึงความตายบ่อย ๆ หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
- เปิดใจรับฟัง บางครั้ง การมีใครสักคนที่พร้อมรับฟังโดยไม่ตัดสิน สามารถช่วยให้ผู้ที่กำลังทุกข์ใจรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว
- แนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การเข้าพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และอาจช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหามองเห็นทางออกที่ดีกว่า
- สร้างสังคมที่มีความเข้าใจและไม่กดดันกันเกินไป การให้กำลังใจและสนับสนุนกันในครอบครัวและที่ทำงาน สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้
คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
หากคุณหรือคนใกล้ตัวกำลังเผชิญกับความคิดฆ่าตัวตาย ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือและรับฟังคุณเสมอ โรงพยาบาลสุขภาพจิต BMHH มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่พร้อมให้คำปรึกษา ชีวิตมีค่า และยังมีคนที่รักและห่วงใยคุณเสมอ