ปภ. ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยเข้ามือถือประชาชนแบบเจาะจงพื้นที่เสี่ยงภัยระดับตำบล/หมู่บ้าน แจ้งเตือนครบทุกมิติ ทั้งวัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย
ปภ. ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยเข้ามือถือประชาชนแบบเจาะจงพื้นที่เสี่ยงภัยระดับตำบล/หมู่บ้าน แจ้งเตือนครบทุกมิติ ทั้งวัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยได้อย่างทันท่วงที เป็นข้อความจากทางราชการ เชื่อถือได้ มีความปลอดภัย และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแจ้งเตือนภัยทางมือถือแบบ SMS หรือข้อความสั้น ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง AIS True และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) วางแนวทางการส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและสามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างทันท่วงทีและลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะเป็นหน่วยงานหลักในการออกข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชน ซึ่งขณะนี้พร้อมดำเนินการแล้ว ในทางปฏิบัติเมื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการพยากรณ์ จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและส่งข้อความแจ้งเตือนภัยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทำการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยมีการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบข้อความสั้น (SMS) 2 รูปแบบ ทั้งการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 12- 24 ชั่วโมง และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน 6 -12 ชั่วโมง
“การแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความ SMS ขณะนี้พร้อมดำเนินการได้ทันทีหากมีสถานการณ์ภัยที่เป็นไปตามเกณฑ์การแจ้งเตือนที่กำหนดขอให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อความแจ้งเตือนภัยจาก ปภ. ที่จะได้รับทางโทรศัพท์มือถือของท่านนั้นเป็นข้อความจากทางราชการ มีความปลอดภัย และเชื่อถือได้อย่างแน่นอน ปภ. ได้กำหนดรูปแบบของข้อความการแจ้งเตือนครบทุกมิติ ทั้งวัน เวลา สถานที่ ระดับความรุนแรง และการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวลใจว่าเป็นข้อความจากมิจฉาชีพ และเมื่อท่านได้รับข้อความแจ้งเตือนสถานการณ์และคำแนะนำแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตัวท่าน และช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้อันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น” อธิบดีไชยวัฒน์ กล่าวเน้นย้ำ
สำหรับเกณฑ์การส่งข้อความแจ้งเตือนภัยแบบ SMS ปภ.ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS ซึ่งช่วงเวลาในการส่งข้อความ SMS จะเป็นไปตามประกาศแจ้งเตือนของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง และห้วงเวลาการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า (12 – 24 ชั่วโมง) และการแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉิน (6 – 12 ชั่วโมง) โดยเจ้าหน้าที่จะใช้ระดับการแจ้งเตือนภัยตามที่แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนด (5 ระดับ)ภายหลังการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่และสถานการณ์ความเสี่ยงภัยแล้วจะทำการส่งข้อความตามเกณฑ์ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ดังนี้ 1. ระดับ 3 (สีเหลือง) ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง 2. ระดับ 4 (สีส้ม) ให้อพยพและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้อพยพกลุ่มเปราะบางออกจากพื้นที่น้ำท่วม และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และ 3. ระดับ 5 (สีแดง) ต้องอพยพและปฏิบัติตามข้อสั่งการทันที