กองทัพบกออกมาตรการควบคุมการลงทัณฑ์และลงโทษกำลังพล เพื่อป้องกันการกระทำเกินกว่าเหตุและให้เป็นไปตามกฎหมาย ตาม คำสั่งกองทัพบกที่ 499/2567 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การลงโทษเป็นไปอย่างเหมาะสม โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
ทำความเข้าใจ “การลงทัณฑ์” และ “การลงโทษ”
- การลงทัณฑ์ คือ การลงโทษตามกฎหมายและธรรมเนียมทหาร ซึ่งมี 5 สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม, กัก, ขัง และจำขัง
- การลงโทษ คือ การกำหนดบทลงโทษเพื่อกวดขันและตักเตือนกำลังพล โดยไม่เข้าข่ายการลงทัณฑ์ทางวินัย เช่น การลงโทษในระหว่างการฝึก หรือการปฏิบัติภารกิจทางทหาร
กำหนด 13 ท่าการลงโทษมาตรฐาน
กองทัพบกได้กำหนด 13 ท่าการลงโทษ ที่สามารถใช้ได้อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อป้องกันการลงโทษที่รุนแรงเกินควร ได้แก่
- ยกเข่าบิดลำตัว
- นอนปั่นจักรยานยกแขน
- ตั้งศอก (Plank)
- ลุกนั่งบิดลำตัว
- ก้าวย่อ
- นอนตะแคงตั้งศอกยกขา
- กระโดดตบ
- ดันพื้น
- ดันพื้นกางแขน
- แมงมุมแตะสลับ
- ปีนเขา
- วิ่งยกเข่าสูง
- วิ่ง (เป็นท่าสุดท้ายเสมอ)













นอกจากนี้ยังมีการ กำหนดท่าอนุโลม สำหรับกำลังพลที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย รวมถึงโรคที่ห้ามปฏิบัติในบางท่า
มาตรการควบคุมการลงโทษที่เข้มงวด
- ผู้สั่งลงโทษต้องเป็น ผู้บังคับบัญชาโดยตรง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
- ห้ามลงโทษซ้ำซ้อนแต่ละท่า และต้องเว้นระยะพัก 3 – 5 นาที ก่อนเปลี่ยนท่าถัดไป
- ระยะเวลาการลงโทษรวมทั้งหมด ต้องไม่เกิน 30 นาที
- สถานที่ลงโทษต้องเป็นพื้นที่เปิดเผย หรือมีกล้องวงจรปิด ห้ามใช้สถานที่ลับตาหรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
- ห้ามลงโทษกำลังพลที่มีอาการเจ็บป่วยโดยเด็ดขาด
บทลงโทษสำหรับผู้บังคับบัญชาที่ละเมิดมาตรการ
- หากพบว่าผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้ ถือว่ามีความผิดทางวินัย
- หากมีการ ละเลย ไม่กำกับดูแล การลงทัณฑ์และลงโทษอย่างเหมาะสม อาจถูกพิจารณา งดบำเหน็จ หรือปรับย้าย
- หากการละเมิดส่งผลเสียหายร้ายแรง อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
- ผู้ที่พบเห็นการกระทำผิด ต้องรายงานโดยด่วน มิฉะนั้นจะถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ร่วมกระทำผิด
คุ้มครองผู้เสียหายและผู้แจ้งเบาะแส
- กองทัพบกกำหนดให้ผู้บังคับบัญชา คุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันการข่มขู่หรือเอาผิดทางวินัย
- หากมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาต้อง ดูแลผู้เสียหาย ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมจ่ายค่าชดเชยตามความเหมาะสม
ยกระดับมาตรฐานทางทหาร ควบคู่ความโปร่งใส
มาตรการใหม่นี้สะท้อนให้เห็นถึง การพัฒนามาตรฐานด้านวินัยทหาร ควบคู่กับการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของกำลังพล ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกองทัพบกในการสร้างองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ยุติธรรม และเป็นไปตามหลักสากล
ข่าว : ศูนย์สงครามพิเศษ